Accessibility Tools

Skip to main content

ผู้เขียน: colorpack

การเตรียมตัวก่อนและหลังบริจาคโลหิต

การเตรียมตัวก่อนและหลังบริจาคโลหิต


ก่อนบริจาคโลหิต

  • นอนหลับสนิท

    พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่น้อยกว่า 5 ชม.

  • รู้สึกสบายดี

    สุขภาพแข็งแรง พร้อมที่จะบริจาคโลหิต หากอยุ่ระหว่างรับประทานยารักษาโรค ให้แจ้งแพทย์/พยาบาล ผู้ตรวจคัดกรองสุขภาพทุกครั้ง

  • รับประทานอาหารก่อนมาบริจาคโลหิต

    หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ แกงกะทิขนมหวาน รวมถึงเครื่องดื่มที่ใส่ส่วนผสมที่มีไขมันสูง เช่น นมข้นหวาน ครีมเทียม ก่อนมาบริจาคโลหิต 6 ชม. เพราะจะทำให้พลาสมามีสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้

  • ดื่มน้ำ

    ก่อนบริจาคโลหิต 30 นาที ประมาณ 300 – 500 ซีซี ซึ่งจะเทียบเท่ากับปริมาณโลหิตที่เสียไปจากการบริจาค จะทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และช่วยลดภาวะการเป็นลมหลังการบริจาคโลหิตได้

  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

    ก่อนมาบริจาคโลหิตอย่างน้อย 24 ชม.

  • งดสูบบุหรี่

    ก่อนและหลังบริจาคโลหิต 1 ชม. เพื่อให้ปอดฟอกโลหิตได้ดี

ขณะบริจาคโลหิต

  • สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่คับเกินไป สามารถดึงขึ้นเหนือข้อศอกได้ อย่างน้อย 3 นิ้ว เลือกแขนข้างที่เส้นโลหิตดำใหญ่ชัดเจน ผิวหนังบริเวณที่จะให้เจาะ ไม่มีผื่นคัน หรือรอยเขียวช้ำ ถ้าแพ้ยาทาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า
  • ไม่ควรเคี้ยวหมากฝรั่ง หรืออมลูกอม ขณะบริจาคโลหิต
  • ขณะบริจาคควรบีบลูกยางอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้โลหิตไหลได้สะดวก
  • หากมีอาการผิดปกติระหว่างบริจาค เช่น ใจสั่น วิงเวียน มีอาการคล้ายจะเป็นลม อาการชา อาการเจ็บที่ผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันที

หลังบริจาคโลหิต

  • นอนพักที่เตียง 5 นาที

    หากไม่มีอาการผิดปกติ จึงลุกจากเตียง และไปนั่งพัก 10 -15 นาที พร้อมดื่มเครื่องดื่ม และรับประทานอาหารว่าง

  • ดื่มน้ำ

    ให้มากกว่าปกติ เป็นเวลา 24 ชม.

  • รับประทานยาเสริมธาตุเหล็ก

    วันละ 1 เม็ด หลังอาหารจนหมด เพื่อชดเชยธาตุเหล็กที่เสียไปจากการบริจาคโลหิต เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตได้อย่างสม่ำเสมอ

  • หลีกเลี่ยงการขึ้น-ลงที่สูง

    อาจทำให้รู้สึกวิงเวียนและเป็นลมได้

  • หลีกเลี่ยงการใช้แขนข้างที่บริจาคโลหิต

    เป็นเวลา 24 ชม.

  • หลีกเลี่ยงการเดินไปในบริเวณที่แออัด

    และมีอากาศร้อนอบอ้าวงดกิจกรรมหรือทำงานที่มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ความเร็ว ความสูง ความลึก เครื่องจักรกล

  • งดออกกำลังกาย

    ที่ทำให้เสียเหงื่อ เป็นเวลา 24 ชม.

จองคิวบริจาคโลหิต

  • ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์

    จองคิว

  • สถานีกาชาดที่ 11 (วิเศษนิยม)

    จองคิว

อ่านต่อ

คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต

คุณสมบัติผู้บริจาคโลหิต

  • 1. อายุ 17 ปีบริบูรณ์ – 70 ปี

    • ผู้บริจาคโลหิตต้องมีอายุ 17- 70 ปี (อายุ 17 ปีบริบูรณ์ ต้องมีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง)
    • บริจาคโลหิตครั้งแรก อายุไม่เกิน 60 ปี
    • ผู้บริจาคที่มีอายุ 60-65 ปี ต้องเป็นผู้บริจาคประจำ บริจาคได้ทุก 3 เดือน  ได้ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ หน่วยเคลื่อนที่ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติ
    • ผู้บริจาคที่มีอายุ 65-70 ปี ต้องเป็นผู้บริจาคประจำ บริจาคได้ทุก 6 เดือน แต่ไม่รับบริจาคในหน่วยเคลื่อนที่
  • 2. น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป

    • น้ำหนัก 45 กิโลกรัมขึ้นไป
  • 3. รู้สึกสบายดี สุขภาพแข็งแรง พร้อมบริจาคโลหิต

    • ผู้บริจาคโลหิตมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ไม่มีอาการผิดปกติต่างๆ เช่น อาการอ่อนเพลียจากการอดนอน อาการมึนเมาจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือสารอื่นๆ
  • 4. นอนหลับสนิท พักผ่อนเพียงพอ อย่างน้อย 5 ชม.

    • การนอนหลับมีความสำคัญต่อสุขภาพ แต่ไม่จำเป็นต้องนอนถึง 8 ชั่วโมง ขอเพียงนอนได้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ อย่างน้อย 5 ชั่วโมง ตื่นมารู้สึกสดชื่น ไม่ผิดไปจากกิจวัตรเดิม และสามารถทำงานได้อย่างปกติ
  • 5. รับประทานอาหารประจำมื้อ โดยไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด เค็มจัดภายใน 6 ชม.

    • เนื่องจากอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู รวมถึงเครื่องดื่มที่ใส่ส่วนผสมที่มีไขมันสูง เช่น นมข้นหวาน ครีมเทียม จะทำให้พลาสมาของผู้บริจาคโลหิตมีสีขาวขุ่น ไม่สามารถนำไปให้ผู้ป่วยได้ ผู้บริจาคโลหิตจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ก่อนบริจาคโลหิตอย่างน้อย 6 ชั่วโมง (ทั้งนี้ ผู้บริจาคจะต้องไม่อดอาหาร และต้องรับประทานอาหารประจำมื้อก่อนการบริจาคโลหิต)
  • 6. โรคประจำตัวไม่ส่งผลกับการบริจาคโลหิต

    • เบาหวาน หากควบคุมได้ด้วยการรับประทานยา ไม่มีการฉีดยาอินซูลิน และไม่มีปัญหาโรคแทรกซ้อน สามารถบริจาคโลหิตได้
    • ความดันโลหิตสูง สามารถบริจาคโลหิตได้ หากควบคุมระดับความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด (systolic BP ไม่เกิน 160 มม.ปรอท diastolic BP ไม่เกิน 100 มม.ปรอท) และไม่มีภาวะแทรกซ้อน
    • ไขมันในเลือดสูง สามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ
    • Hyperthyroid สามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้ามีระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ปกติ โดยแพทย์ให้หยุดยารักษา อย่างน้อย 2 ปี (ทั้งนี้ หากมีสาเหตุจากมะเร็งหรือโรคทางภูมิคุ้มกัน ให้งดบริจาคโลหิตถาวร)
    • Hypothyroid สามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้ารักษาจนระดับฮอร์โมนไทรอยด์กลับสู่ปกติ โดยไม่มีการปรับยา ภายใน 2 เดือน
    • โรคลมชัก สามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้าหยุดยากันชักโดยไม่มีอาการชัก มาอย่างน้อย 3 ปี และต้องมีใบรับรองจากแพทย์ผู้รักษามายืนยัน
    • โรคมะเร็งทุกชนิด งดบริจาคโลหิตถาวร แม้ได้รับการรักษาหายแล้ว
    • โรควัณโรค สามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้าได้รับการรักษาจนหาย และรับประทานยาครบคอร์ส และต้องหยุดยารักษา อย่างน้อย 2 ปี นับจากการรับประทานยาเม็ดสุดท้าย
    • โรคหอบหืด สามารถบริจาคโลหิตได้ ถ้าควบคุมอาการได้ด้วยยากิน (ยกเว้นยา steroid) หรือยาพ่นเพื่อควบคุมอาการ (controller) และในวันที่มาบริจาคโลหิตไม่มีอาการหอบ
  • 7. ต้องไม่อยู่ในระหว่างรับประทานยาต่างๆ ที่ส่งผลกับการบริจาคโลหิต

    • ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) หลังรับประทานยาเม็ดสุดท้ายแล้ว ให้เว้น 7 วัน จึงสามารถบริจาคโลหิตได้
    • ยาแอสไพริน ยาแก้ปวดลดอักเสบ (NSAID) สามารถบริจาคโลหิตได้ แต่ไม่นำเกล็ดเลือดมาใช้ หากต้องการบริจาคเกล็ดเลือดจะต้องหยุดรับประทานยาแล้ว อย่างน้อย 2 วัน จึงจะบริจาคได้
    • ยากลุ่มฮอร์โมนเพศ
      • ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ให้ทดแทนในหญิงหมดประจำเดือน สามารถบริจาคโลหิตได้
      • ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อปรับลักษณะทางเพศเป็นหญิง หากใช้ขนาดสูง หรือใช้เองโดยไม่อยู่ในการดูแลของแพทย์ ต้องงดใช้แล้ว 4 เดือนจึงบริจาคโลหิตได้
      • กรณีแปลงเพศโดยตัดอัณฑะแล้ว ใช้เอสโตรเจนขนาดต่ำภายใต้การดูแลของแพทย์ และไม่มีความเสี่ยงอื่น สามารถบริจาคโลหิตได้
      • ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ต้องงดบริจาคโลหิต เพื่อป้องกันอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของผู้รับโลหิต หากต้องการบริจาคจะต้องงดการใช้ อย่างน้อย 4 เดือน
  • 8. งดดื่มแอลกอฮอล์ก่อนมาบริจาคโลหิต 24 ชม.

    • ควรงดดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งก่อนและหลังการบริจาคโลหิตเนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต ร่างกายขาดน้ำ อีกทั้งทำให้การฟื้นตัวหลังบริจาคโลหิตช้ากว่าปกติ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการบริจาคโลหิตได้ สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ อาจมีการทำงานของตับบกพร่อง ร่างกายไม่สามารถขจัดแอลกอฮอล์ออกจากโลหิตได้ดีเท่าที่ควร จึงควรงดดื่ม 7 วันก่อนบริจาคกรณีเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ให้งดบริจาคโลหิตถาวร
  • 9.  ต้องไม่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

    • ผู้บริจาคโลหิตกำลังตั้งครรภ์ ต้องงดบริจาคโลหิตชั่วคราว เพราะโลหิตมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารก ซึ่งการบริจาคโลหิตระหว่างการตั้งครรภ์อาจทำให้มีภาวะซีด และอาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้  หากอยู่ในระยะให้นมบุตรต้องงดบริจาคโลหิตเช่นเดียวกัน เพราะในโลหิตมีสารอาหารที่จำเป็นในการใช้ผลิตเป็นน้ำนม นอกจากนั้นระหว่างที่อยู่ในระยะให้นมบุตร อาจมีการนอนหลับไม่เพียงพอทำให้อ่อนเพลียได้ หลังจากบุตรหย่านมแล้ว จึงจะบริจาคโลหิตได้
  • 10. ต้องไม่อยู่ในช่วงที่เพิ่งคลอดบุตร หรือแท้งบุตร

    • การคลอดบุตรด้วยวิธีคลอดปกติหรือการผ่าตัดคลอด รวมทั้งการแท้งบุตร เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียโลหิตได้เป็นจำนวนมาก จึงต้องงดบริจาคชั่วคราว เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงให้กลับเป็นปกติก่อน
  • 11. มีเพศสัมพันธ์เฉพาะกับคู่ของตนและไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์

    นิยาม:

    • คู่ หมายถึง ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วยกันสำหรับทุกเพศสภาพในทุกช่องทาง
    • คู่ซ้อน หมายถึง การมีคู่พร้อมกันในปัจจุบันมากกว่า 1 คนขึ้นไป
    • พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์* หมายถึง การมีคู่ซ้อน / การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ขายบริการทางเพศ / การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคหรือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ถ่ายทอดทางโลหิตได้ / การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เสพยาเสพติด หรือใช้ยาฉีดที่ไม่มีใบสั่งแพทย์

    * ทั้งในกรณีที่ใช้และไม่ใช้ถุงยางอนามัยหรือวิธีการป้องกันอื่นใดก็ตามลักษณะพฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาให้บริจาคโลหิต งดบริจาคโลหิตชั่วคราว หรืองดบริจาคโลหิตถาวร ดังต่อไปนี้

    1. การมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ให้พิจารณาจากพฤติกรรมทางเพศ โดยห้ามงดการบริจาคจากลักษณะบุคคลิกภาพภายนอกเพียงอย่างเดียว (เช่น หากชายมีเพศสภาพเป็นหญิง แต่ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ สามารถให้บริจาคได้ตามปกติ)
    2. มีคู่คนเดียว และ ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ* บริจาคโลหิตได้
    3. เปลี่ยนคู่ใหม่ ให้งดบริจาค 4 เดือน นับจากวันที่เปลี่ยนคู่
    4. มีคู่ซ้อน ให้งดบริจาค 4 เดือน นับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย (ยกเว้นการมีคู่ซ้อนตามหลักศาสนา หากไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ บริจาคโลหิตได้)
    5. มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ* หรือ มีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ให้งดบริจาค 4 เดือน นับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย

    * กรณีมีเพศสัมพันธ์แบบชายกับชาย ให้งดบริจาคโลหิตไปก่อน จนกว่าจะมีผลการวิจัยของประเทศไทยที่สนับสนุนให้บริจาคโลหิตได้ ทั้งนี้ ต้องมีการตรวจคัดกรองโลหิตด้วยวิธีทางอณูชีววิทยา (nucleic acid testing: NAT) เท่านั้น

  • 12. ต้องไม่เคยใช้ยารักษาหรือป้องกันโรคเอชไอวี

    • เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลเบี่ยงเบนการตรวจ ทำให้ตรวจไม่พบเชื้อในขนาดต่ำ ส่งผลให้เพิ่มความเสี่ยงการถ่ายทอดเชื้อผ่านโลหิตบริจาคในช่วง window period เพิ่มขึ้น และทำให้ผู้รับโลหิตให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้

      PrEP (pre exposure prophylaxis) เป็นกลุ่มยาที่ผลิตขึ้นมาจากยาต้านไวรัสหลายชนิด นำมาใช้ในการป้องกันการติดเชื้อในคนที่ไม่เคยติดเชื้อ HIV มาก่อน เนื่องจากในชีวิตประจำวันมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV อยู่เป็นประจำ

      PEP (post exposure prophylaxis) เป็นการรักษาระยะสั้น (short term treatment) ที่ใช้ทันทีหรือเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ หลังจากได้มีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่าง ๆ ต่อการติดเชื้อ HIV เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อดังกล่าว
    • กรณีรับประทานยา PEP/PrEP ให้งด 1 ปี นับจากหยุดยารับประทานยาเม็ดสุดท้าย
    • กรณีฉีดยา PEP/PrEP ให้งด 2 ปี นับจากฉีดยาครั้งล่าสุด
  • 13. เว้นระยะจากเข้ารับการอุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน หรือรักษารากฟัน มาแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์

    • การอุดฟัน ขูดหินปูน ให้เว้น 3 วัน เนื่องจากอาจมีบาดแผลหรือเกิดการอักเสบ ทำให้มีการติดเชื้อในโลหิตได้โดยไม่มีอาการ เชื้อนี้อาจจะติดต่อไปยังผู้ป่วยที่ได้รับโลหิตได้
    • การถอนฟัน การรักษารากฟัน ทำให้เกิดบาดแผลซึ่งอาจมีการติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน จึงควรงดการบริจาคโลหิตประมาณ 7 วัน เพื่อให้แผลหายสนิทก่อน
  • 14. หากมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ต้องหายขาดอย่างน้อย 7 วัน

    • ท้องเสีย ท้องร่วง โดยมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ หรืออาหารที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ แต่ไม่มีการติดเชื้อ ให้เว้นอย่างน้อย 7 วัน โดยนับจากวันที่ไม่มีอาการ
    • หากมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ให้เว้นอย่างน้อย 7 วัน โดยนับจากวันที่ไม่มีอาการเช่นกัน แต่ถ้าหากกินยาฆ่าเชื้อให้เว้นอีก 7 วัน หลังจากยาเม็ดสุดท้าย
  • 15. เว้นระยะจากการเจาะหู เจาะผิวหนัง สัก ลบรอยสัก ฝังเข็มมาแล้วอย่างน้อย 4 เดือน

    • สามารถบริจาคโลหิตได้เมื่อกระทำด้วยเทคนิคปลอดเชื้อที่โรงพยาบาล หากทำหัตถการ ณ สถานที่อื่น ๆ ที่มิใช่โรงพยาบาล ให้เว้นอย่างน้อย 4 เดือน เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่สามารถติดต่อได้ทางโลหิตโดยเฉพาะ HIV หรือไวรัสตับอักเสบ B และ C โดยมีเงื่อนไขว่าการตรวจ HCV ในโลหิตบริจาคใช้เทคนิค NAT หากไม่ได้ตรวจ HCV ด้วยเทคนิค NAT ให้เว้น 1 ปี
  • 16. เว้นระยะจากการเข้ารับการผ่าตัดมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี

    • ผ่าตัดเล็ก หมายถึง การผ่าตัดที่ใช้ยาชาเฉพาะที่ เสียโลหิตไม่มาก ให้งดการบริจาคโลหิต 7 วัน เพื่อให้บาดแผลหายสนิท ตัวอย่างการผ่าตัดเล็ก เช่น ผ่าตัดฝีเฉพาะจุด
    • การผ่าตัดใหญ่ หมายถึง การผ่าตัดที่ต้องดมยาสลบและอาจมีการใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้งดการบริจาคโลหิต 6 เดือน เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงและแผลหายดี ตัวอย่างการผ่าตัดใหญ่ เช่น การผ่าตัดกระดูกสันหลัง รวมทั้งการผ่าตัดด้วยวิธีส่องกล้อง (ทั้งนี้ หากมีการให้โลหิตหรือส่วนประกอบโลหิตร่วมด้วย ให้งดการบริจาคโลหิต 1 ปี) 

    กรณีขูดมดลูกจากสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์หรือแท้งบุตรให้งด 1 เดือน หากไม่มีการดมยาสลบ แต่ถ้ามีการดมยาสลบในการขูดมดลูกให้งด 6 เดือน

  • 17. เว้นระยะจากการป่วยและได้รับโลหิตหรือส่วนประกอบโลหิต ในช่วงเวลา 1 ปี

    • การได้รับโลหิต / ส่วนประกอบโลหิต จากผู้อื่น ย่อมมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดทางโลหิตได้ แม้ว่ามีโอกาสน้อยมาก จึงให้งดบริจาคโลหิต 1 ปี
  • 18. ต้องไม่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต

    • ผู้ที่เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Stem Cells) ให้งดบริจาคโลหิตถาวร เนื่องจากผู้ที่รับการปลูกถ่ายอวัยวะส่วนมากได้รับยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพื่อป้องกันการสลัดอวัยวะที่ปลูกถ่ายไว้ ยาดังกล่าวสามารถทำให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ หรือตายในครรภ์ได้หากหญิงตั้งครรภ์ได้รับโลหิตนี้ได้
    • ส่วนการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตนั้นแม้ไม่ต้องกินยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ส่วนใหญ่สาเหตุการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตนั้น เป็นโรคทางโลหิตวิทยา อาจมีปัญหาในการสร้างเม็ดโลหิต จึงให้งดบริจาคโลหิตถาวร
    • ยกเว้นปลูกถ่ายกระจกตา งด 1 เดือน
  • 19. เว้นระยะจากการถูกเข็มที่เปื้อนเลือดตำ มาแล้วอย่างน้อย 1 ปี

    • การถูกเข็มเปื้อนเลือดตำ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากเลือดที่เข็ม จึงให้งดบริจาคโลหิต 1 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าพ้นระยะ window period ของการติดเชื้อชนิดต่าง ๆ
  • 20. ไม่เคยป่วยเป็นโรคตับอักเสบ

    • โดยทั่วไปการเป็นโรคตับอักเสบก่อนอายุ 11 ปี ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบ เอ เมื่อหายแล้วสามารถบริจาคโลหิตได้
    • แต่หากมีประวัติเป็นตับอักเสบหลังอายุ 11 ปี ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ให้งดบริจาคโลหิตถาวร เพื่อลดความเสี่ยงจากการถ่ายทอดเชื้อให้ผู้ป่วยที่ได้รับโลหิต เว้นแต่มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่าตับอักเสบดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอื่น
  • 21. คู่ของท่านหรือบุคคลในครอบครัว ไม่ได้เป็นโรคตับอักเสบ ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา

    • เนื่องจากการที่มีบุคคลใกล้ชิดเป็นโรคตับอักเสบ ทำให้ท่านมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ได้เช่นเดียวกัน จึงควรงดการบริจาคโลหิต 1 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้มีเชื้อนี้ ซึ่งสามารถถ่ายทอดไปให้ผู้ป่วยที่ได้รับโลหิตได้
  • 22. ไม่เคยตรวจพบว่าเป็นพาหะของโรคตับอักเสบ

    • ผู้ที่เคยตรวจพบว่าเป็นพาหะของโรคตับอักเสบบี ให้งดบริจาคโลหิตถาวร แม้ว่าการตรวจในครั้งนี้จะไม่พบแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันการถ่ายทอดเชื้อไปยังผู้ป่วยที่ได้รับโลหิต
  • 23. ไม่เคยป่วยเป็นโรคมาลาเรีย ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา

    • ผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมาลาเรีย ต้องงดบริจาคโลหิตไป 3 ปีหลังจากรักษาหายขาดแล้ว
  • 24. ไม่เคยเข้าไปในพื้นที่มีเชื้อมาลาเรียชุกชุม ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา

    • ผู้บริจาคโลหิตที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีเชื้อมาลาเรียชุกชุม และพำนักอยู่ในระยะสั้น ๆ ได้แก่ ไปท่องเที่ยว ให้งดบริจาคโลหิตไป 1 ปี

    เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ปลอดจากเชื้อมาลาเรีย ยังมีการระบาดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เป็นป่าเขา มียุงที่เป็นพาหะของเชื้อชุกชุม อีกทั้งยังไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อกรองการติดเชื้อนี้ในโลหิตบริจาค การพิจารณาด้วยแบบสอบถามและการสัมภาษณ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

  • 25. ไม่มีประวัติป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ / โรคไข้เลือดออก/ โรคไข้ซิกา / โรคโควิด-19 หรือ
 โรคชิคุนกุนยา ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา

    • โรคไข้หวัดใหญ่ ให้งดบริจาคโลหิต 2 สัปดาห์หลังหายดีแล้ว
    • โรคไข้เลือดออก ให้งดบริจาคโลหิต 1 เดือนหลังหายดีแล้ว
    • โรคชิคุนกุนยา ให้งดบริจาคโลหิตอย่างน้อย 6 เดือนหลังหาย และไม่มีอาการปวดข้อแล้ว
    • โรคไข้ซิกา ให้งดบริจาคโลหิต 6 เดือน
    • โรค COVID-19 ในกรณีดังต่อไปนี้
      1. กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แต่ไม่แสดงอาการใดๆ งดบริจาคโลหิต อย่างน้อย 7 วัน หลังตรวจพบเชื้อ
      2. กรณีติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 งดบริจาคโลหิต 14 วัน นับตั้งแต่หายป่วย และไม่มีอาการใดๆหลงเหลืออยู่ (หมายเหตุ ข้อมูลอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ของ COVID-19)
  • 26. ไม่อยู่ในระยะที่เพิ่งได้รับวัคซีนป้องโรคบางชนิด

    • วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า(บาดแผลหายดี) ป้องกันบาดทะยัก(บาดแผลหายดี) วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ หลังฉีดวัคซีน 24 ชม. หากไม่มีอาการข้างเคียง สามารถบริจาคโลหิตได้
    • วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี หลังได้รับวัคซีน 21 วัน สามารถบริจาคโลหิตได้
    • วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก หัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และงูสวัด หลังได้รับวัคซีน 4 สัปดาห์ ไม่มีอาการข้างเคียง สามารถบริจาคโลหิตได้
    • วัคซีนป้องกัน COVID-19 กรณีได้รับวัคซีน COVID-19 ที่ได้รับการรับรองจาก อย. เว้น 2 วัน หลังฉีด หากมีอาการข้างเคียงขอให้หายดีก่อน เว้น 7 – 14 วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
  • 27. ไม่เคยมีประวัติเสพยาเสพติดหรือสารควบคุมที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท

    • ผู้บริจาคโลหิตต้องงดสารเสพติดและสารควบคุมทุกชนิดก่อนการบริจาคโลหิต
    • ยาเสพติดชนิดฉีดทุกชนิดให้งดบริจาคโลหิตถาวรแม้ว่าจะเลิกแล้วก็ตาม เนื่องจากเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ถ่ายทอดทางโลหิตและตัวยามีผลต่อจิตประสาท อาจมีอาการมึนงงหรือประสาทหลอนได้ อาจมีพฤติกรรมแปรปรวนเป็นอันตรายทั้งต่อตัวเอง ผู้อื่น หรือแม้กระทั่งต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
    • ยาเสพติดชนิดกิน ต้องเลิกเสพเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีจึงจะบริจาคได้ โดยซักถามให้มั่นใจว่าเลิกยาแล้วและไม่มีการกลับไปกินยาอีก ไม่มีอาการผิดปกติทางด้านร่างกายและจิตใจ หากไม่มั่นใจให้งดบริจาคโลหิตอย่างไม่มีกำหนด
    • กรณีมีการใช้สารควบคุมที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น กัญชา กัญชง กระท่อม ด้วยช่องทางหรือวิธีต่างๆ ซึ่งรวมถึงการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของสารควบคุมดังกล่าว ให้ปฏิบัติดังนี้
    • กรณีใช้เป็นประจำ ตั้งแต่ 1 ครั้ง/สัปดาห์ขึ้นไป ต้องงด 7 วัน ก่อนบริจาคโลหิต
    • กรณีใช้เป็นครั้งคราว ให้งด 24 ชั่วโมง ก่อนบริจาคโลหิต

      ทั้งนี้ ในวันบริจาคโลหิต ต้องไม่มีอาการมึนงง หรืออาการทางจิตประสาทอื่นๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริจาคทั้งในระหว่างบริจาคและหลังบริจาค

      อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้และการบริโภคกัญชา ได้แก่ เคลิ้ม ไม่ตื่นตัว มึนงง เซื่องซึม เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว เสียการทรงตัว อาจล้มหมดสติ ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้ ซึ่งการบริโภคจะมีฤทธิ์คงอยู่นานกว่าการสูบ

    • 28. ไม่เคยถูกควบคุมตัวหรือจองจำในเรือนจำติดต่อกันเกิน 72 ชั่วโมง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา

      • ผู้ที่เคยถูกควบคุมตัว หรือจองจำในเรือนจำ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV HBV HCV สูงกว่ากลุ่มประชากรอื่น จึงให้งด 1 ปี นับจากวันที่ได้รับการปล่อยตัว
    • 29. ไม่เคยมีน้ำหนักลด มีไข้ มีต่อมน้ำเหลืองโต โดยไม่ทราบสาเหตุ ในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา หรือเคยตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี

      • ต้องงดบริจาคโลหิตจนกว่าจะหาสาเหตุได้ เนื่องจากอาการดังกล่าวเป็นอาการในระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อเอชไอวี (Prodromal symptoms) หรือเป็นอาการของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ทั้งนี้หากตรวจพบว่าติดเชื้อ HIV ให้งดบริจาคโลหิตถาวร
    • 30. ไม่เคยพำนักอาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ สก๊อตแลนด์เวลส์เป็นเวลาสะสมมากกว่า 3 เดือน ในช่วง พ.ศ. 2523 – 2539

      • ผู้ที่เคยพำนักอาศัยอยู่ในประเทศสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์ สามารถบริจาคโลหิต ชนิด Whole Blood ได้ โดยนำไปใช้เจาะเม็ดเลือดแดงที่ลดปริมาณเม็ดเลือดขาวแล้ว (LDPPC) แต่หากเคยป่วยหรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรค CJD ให้งดบริจาคโลหิตถาวร
    • 31. ไม่เคยพำนักอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและไอร์แลนด์เป็นระยะเวลาสะสมมากกว่า 5 ปี ในช่วง พ.ศ. 2523 – 2544 

      • ไม่เคยพำนักอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศสและไอร์แลนด์เป็นระยะเวลาสะสมมากกว่า 5 ปี ในช่วง พ.ศ. 2523 – 2544 
    • 32. ไม่มีแผลหรือผื่นบนร่างกาย

      • ไม่มีแผลหรือผื่นบนร่างกาย

    อ่านต่อ

    บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem cell)

    การบริจาคสเต็มเซลล์คืออะไร การลงทะเบียนเป็นอาสาสมัคร สเต็มเซลล์ คุณสมบัติของผู้บริจาคและคำถามที่พบบ่อย

    บริจาคโลหิต (Blood)

    การเตรียมตัวก่อนบริจาคโลหิต และโลหิตเฉพาะส่วน การดูแลตัวเองหลังบริจาคโลหิตการจองคิวบริจาคโลหิต และคำถามที่พบบ่อย